พระนอน ปางไสยาสน์ หรือ ปางสีหไสยาสน์ เมื่อพูดถึงพระพุทธรูปปางสีหไสยาสน์ ก็ย่อมจะนึกถึงภาพของพระนอนที่มีขนาดต่างๆ ตั้งแต่เล็กสุดจนถึงใหญ่สุด ที่ประดิษฐานอยู่ตามวัดวาอารามทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด
พระพุทธไสยาสน์จะอยู่ในอิริยาบถบรรทม ท่าสีหไสยาสน์ เป็นการนอนของราชสีห์ ว่ากันว่า ราชสีห์เป็นสัตว์ที่มีอำนาจ และสง่างามในท่วงท่าและอิริยาบถ แม้ในการนอนก็ต้องนอนด้วยอาการอันสำรวม เวลานอนจะใช้เท้าลูบฝุ่นที่นอนให้เรียบเสมอกัน แล้วจึงจะตะแคงตัวด้านขวาลงนอน เท้าทั้งสี่จะอยู่ในอาการอันสำรวม ไม่เหนียดหรือกางออกเหมือนสัตว์อื่น และจะกำหนดในใจว่าจะนอนอย่างมีสติสัมปชัญญะ และตื่นขึ้นในเวลาที่กำหนด
พุทธลักษณะ พระนอน ปางไสยาสน์ หรือ ปางสีหไสยาสน์
ปางไสยาสน์ หรือ ปางสีหไสยาสน์ เป็นชื่อเรียกโดยทั่วไปของลักษณะของรูปสมมุติของพระพุทธเจ้า (พุทธลักษณะ) ในอิริยาบถบรรทม ซึ่งแต่เดิมนั้นหมายถึงเฉพาะปางปรินิพพาน แต่ในประเทศไทยได้มีการปรับเปลี่ยนคตินอกเหนือไปจากปางปรินิพพาน โดยอาจจำแนกอย่างไม่เป็นทางการ ตามรายละเอียดในพุทธประวัติ ดังนี้
- ปางทรงพระสุบิน เป็นพระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถบรรทมตะแคงขวา พระหัตถ์ซ้ายทอดไปตามพระวรกาย พระพาหาขวาแนบกับพื้น ยกหลังพระหัตถ์ขึ้นแนบพระหนุ งอนิ้วพระหัตถ์แนบกับพระปราง หลับพระเนตร พระเศียรหนุนพระเขนย เป็นกิริยาบรรทมหลับในลักษณะสีหไสยาสน์
ประวัติปางทรงพระสุบิน
เมื่อพระบรมโพธิสัตว์ทรงเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยา เพราะทรงเห็นว่าไม่ใช่หนทางแห่งพระโพธิญาณ จึงทรงเปลี่ยนมาดำเนินปฏิบัติทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) โดยเสด็จออกบิณฑบาตและเสวยพระกระยาหารดังเดิม ทำให้ปัญจวัคคีย์ ทั้ง 5 เข้าใจว่าพระบรมโพธิสัตว์ได้ละความเพียรแล้วหันมาบริโภคอาหารดังเดิม ไหนเลยจะสามารถพบธรรมวิเศษได้ จึงพากันเดินทางจากไป พระบรมโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญเพียรทางจิตมา จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ขณะบรรทมทรงปัญจมหาสุบิน (ฝัน) เป็นบุพนิมิตรมหามงคล 5 ประการ เมื่อตื่นบรรทมพระบรมโพธิสัตว์ทรงทำนายมหาสุบินนิมิตรด้วยพระองค์เอง ทรงทราบว่าจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
- ปางโปรดอสุรินทราหู อยู่ในอิริยาบถบรรทมตะแคงขวา พระบาททั้งสองข้างซ้อนทับเสมอกัน พระหัตถ์ซ้ายทาบไปตามพระวรกาย พระหัตถ์ขวาตั้งขึ้นรับพระเศียร และมีพระเขนย (หมอน) รองรับ
ประวัติปางโปรดอสุรินทราหู
ในสมัยพุทธกาล ครั้งพระพุทธองค์ทรงประทับที่เชตวันมหาวิหารในกรุงสาวัตถี อสุรินทราหู ซึ่งเป็นอุปราชของท้าวเวปจิตติอสูรบดินทร์ ผู้ครอบครองเมืองอสูร มีความประสงค์จะเข้าฟังพระธรรมจากพระพุทธเจ้า เมื่อได้ไปเข้าเฝ้า อสุรินทราหูก็สำคัญตัวว่ามีร่างกายใหญ่กว่าพระพุทธองค์ จึงไม่แสดงความนอบน้อม
เพื่อทรงต้องการลดทิฐิมานะของอสุรินทราหู พระพุทธองค์ได้ทรงเนรมิตพระวรกายในลักษณะสีหไสยาสน์ พระวรกายของพระพุทธองค์สูงใหญ่กว่าอสุรินทราหู
เมื่อได้เห็นเช่นนั้น อสุรินทราหูก็รู้สึกอัศจรรย์ใจ จึงถวายอภิวาท และเงยหน้าชมพุทธลักษณะด้วยความยินดี และนับตั้งแต่นั้นมา อสุรินทราหูก็ได้ลดทิฐิมานะลง พอเมื่อได้สดับฟังธรรม ก็เกิดความเลื่อมใส ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง
- ปางทรงพยากรณ์พระอานนท์ เป็นพระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถบรรทมตะแคงขวา ลืมพระเนตร พระเศียรหนุนพระเขนย พระหัตถ์ซ้ายทาบบนพระวรกายเบื้องซ้าย พระหัตถ์ขวายกขึ้นวางระหว่างพระนาภี
ประวัติปางทรงพยากรณ์พระอานนท์
เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานนั้น พระอานนท์เศร้าโศกเสียใจมาก จึงแอบไปยืนร้องไห้อยู่เพียงลำพัง พระพุทธองค์ได้ตรัสปลอบว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง จะหาความเที่ยงแท้จากสังขารได้แต่ที่ไหน ทุกสิ่งที่มีเกิดในเบื้องต้น ต้องแปรปรวนในท่ามกลาง และดับสลายลงในที่สุด ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจนั้นเป็นของธรรมดา ให้ละความเศร้าโศรก และตั้งใจปฏิบัติธรรม จากนั้นทรงสรรเสริญความดีของพระอานนท์ และตรัสพยากรณ์ว่า พระอานนท์จักบรรลุธรรมสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ก่อนที่คณะสงฆ์จะทำปฐมสังคายนา
- ปางโปรดสุภัททปริพาชก เป็นพระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถบรรทมตะแคงขวา ลืมพระเนตร พระเศียรหนุนพระเขนย พระหัตถ์ซ้ายทอดทาบไปตามพระวรกายเบื้องซ้าย พระหัตถ์ขวายกตั้งขึ้น จีบนิ้วพระหัตถ์เสมอระหว่างพระอังสา เป็นกิริยาขณะทรงแสดงธรรม
ประวัติปางโปรดสุภัททปริพาชก
ขณะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบรรทมอยู่ระหว่างต้นสาละคู่ในเมืองกุสินาราก่อนทรงดับขันธ์ปรินิพพาน มีปริพาชกนามว่า สุภัททะ ทราบข่าวว่าพระองค์จะปรินิพพาน จึงปรารถนาเข้าเฝ้าเพื่อทูลถามข้อข้องใจ พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้เข้าเฝ้า และทรงแสดงพระธรรมเทศนา คือ อริยมรรคมีองค์ 8 และทรงย้ำว่าตราบใดที่สาวกของพระองค์ปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ 8 อย่างถูกต้อง โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ สุภัททปริพาชกเลื่อมใส ทูลขออุปสมบทและบรรลุอรหันตผลในราตรีนั้น นับเป็นพุทธสาวกองค์สุดท้ายที่ได้เป็นอรหันต์ทันพระชนชีพของพระพุทธองค์
- ปางปัจฉิมโอวาท อยู่ในอิริยาบถบรรทม และมีลักษณะพิเศษ คือ พระหัตถ์ขวายกตั้งขึ้นจีบพระองคุลี (จีบนิ้วหัวแม่มือจดข้อนิ้วมือแรกของนิ้วชี้) เสมอพระอุระ
ประวัติปางปัจฉิมโอวาท
เมื่อก่อนพระพุทธเจ้าจะเสด็จนิพพานนั้น พระ พุทธเจ้าไม่ได้ทรงตั้งพระสาวกองค์ใดให้รับตำแหน่ง เป็นพระศาสดาปกครองพระสงฆ์สืบต่อจากพระองค์ เหมือนศาสดาในศาสนาอื่น เรื่องนี้ก็ไม่มีพระสงฆ์องค์ใดทูลถามพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธเจ้าก็ตรัสสั่งพระสงฆ์ไว้ชัดเจนก่อนจะนิพพานว่า พระภิกษุรูปใดอย่าเข้าใจผิดว่า เมื่อพระองค์นิพพานแล้ว ศาสนาพุทธ หรือคำสั่งสอนของพระองค์จักไร้พระศาสดา จึงตรัสบอกพระอานนท์ว่า “ดูก่อนอานนท์ ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่เราได้แสดงไว้ และบัญญัติไว้ด้วยดี นั่นแหละจักเป็นพระศาสดาของพวกท่าน สืบแทนเราตถาคต เมื่อเราล่วงไปแล้ว”
ครั้นแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสเป็นปัจฉิมโอวาทครั้งสุดท้ายว่า “สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมสลายเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาทเถิด”
- ปางปรินิพพาน เป็นพระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถบรรทมตะแคงขวา หลับพระเนตร พระเศียรหนุนพระเขนย พระหัตถ์ซ้ายทอดทาบไปตามพระวรกาย พระหัตถ์ขวาวางหงายอยู่ข้างพระเขนย พระบาทซ้ายทับซ้อนพระบาทขวา เช่นเดียวกับปางโปรดอสุรินทราหู และปางทรงพระสุบินหรือเรียกโดยทั่วไปว่าพระปางไสยาสน์ หลายตำราบอกว่าปางปรินิพพาน ต่างจากปางไสยาสน์ตรงที่พระหัตถ์ขวาของพระพุทธองค์จะไม่ทรงชันพระเศียรตั้งขึ้น แต่จะแผ่ราบลงกับพื้น ซึ่งเป็นลักษณะทอดร่างวางขันธ์ดับ มุ่งสู่มหาปรินิพพาน
ประวัติปางปรินิพพาน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประทับสีหไสยาสน์เสด็จดับขันธปรินิพพานในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ (เดือน 6) ก่อนพุทธศักราช 1 ปี (สำหรับประเทศไทย) ณ สาลวโนทยาน ของมัลลกษัตริย์กุสินารา การถวายพระเพลิงได้จัดขึ้น ณ มกุฏพันธนเจดีย์ กรุงกุสินารา แคว้นมัลละ ในวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 (วันอัฏฐมีบูชา)
ทั้งนี้ การจำแนกพุทธลักษณะว่าเป็นปางใดนั้น ต้องพิจารณาทิศเบื้องพระเศียร ประวัติและคติความเชื่อขณะที่สร้างพุทธลักษณะนั้นๆ ด้วย อนึ่ง ปางไสยาสน์ที่นิยมสร้างเป็นพระพุทธรูปในไทย คือ ปางโปรดอสุรินทราหู และปางปรินิพพาน ส่วนปางอื่นๆ มักปรากฏเป็นภาพวาด