ทศชาติชาดก ชาติที่ 5 พระมโหสถ ปัญญาบารมี

ทศชาติชาดก ชาติที่ 5 พระมโหสถ

ทศชาติชาดก ชาติที่ 5 พระมโหสถ แสดงถึงการบำเพ็ญปัญญาบารมี คือ มีความรอบรู้ ความเข้าใจ แยกแยะเหตุและผล คุณและโทษ พระมโหสถชาดก เป็นเรื่องราวในอดีตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงบำเพ็ญปัญญาบารมี ด้วยการใช้ปัญญาอันเฉียบแหลมในการแก้ไขปัญหาต่างๆ เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสโดยยึดหลักศีลธรรม

ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ทศชาติชาดก ชาติที่ 5 พระมโหสถ

ในอดีตกาล เศรษฐีนามว่า สิริวัฒกะและสุมนาเทวี มีบุตรชื่อ มโหสถ ที่ได้ชื่อนี้ เพราะเมื่อตอนคลอดนั้น มโหสถได้กำยาออกมาด้วย บิดาและมารดาได้นำยานั้นรักษาคนที่ป่วยเป็นโรคทุกชนิด จนหายขาดจากโรคต่างๆ เป็นที่เลื่องลือไปทั่ว เมื่อมโหสถเติบโตขึ้นปรากฏว่ามีสติปัญญาเฉลียวฉลาดกว่าเด็กในวัยเดียวกัน มโหสถได้ออกแบบสร้างศาลาใหญ่สำหรับคนยากจน นักบวช พ่อค้า อีกทั้งยังมีสนามกีฬา และหอประชุมต่างๆ อีกมากมาย

ทางด้านเมืองมิถิลา ขณะที่มโหสถเกิด พระเจ้าวิเทหราช กษัตริย์เมืองมิถิลา ทรงพระสุบินนิมิตประหลาด นักปราชญ์ประจำราชสำนัก 4 คน คือ เสนกะ ปุตกุสะ กามินท์ และเทวินทะ กราบทูลว่าจะกำเนิดนักปราชญ์คนใหม่ เป็นผู้มีสติปัญญาปราดเปรื่องเป็นอย่างมาก เวลาผ่านไป พระเจ้าวิเทหราชทรงให้เสนาอำมาตย์ออกสืบตามหานักปราชญ์ผู้มีสติปัญญา จนได้ทราบว่านักปราชญผู้นั้น คือ มโหสถ พระเจ้าวิเทหราชให้อำมาตย์คอยสังเกตการณ์ติดตามดูมโหสถ จึงได้เห็นการแก้ปัญหาของมโหสถหลายเรื่อง จนมั่นใจได้ว่าเป็นนักปราชญ์ผู้มีสติปัญญาปราดเปรื่องผู้นั้นแน่นอน

พระเจ้าวิเทหะราชรับสั่งให้มโหสถเข้าเฝ้า พระองค์ปลื้มพระทัยในความมีปัญญาของมโหสถในหลายๆ ด้าน จึงขอมโหสถกับบิดาไว้เป็นราชบุตรบุญธรรม และให้อยู่เป็นข้าเฝ้ารับราชการ มโหสถจึงได้เริ่มรับราชการจนมีอิสริยายศและบริวารมากมาย ตลอดเวลาที่มโหสถรับราชการก็ได้แสดงสติปัญญา พิจารณาแก้ไขปัญหาทั้งปวง ยิ่งข่มรัศมีของบัณฑิตทั้ง 4 ที่อยู่มาก่อน จึงพยายามสร้างปัญหาขึ้นเพื่อให้มโหสถอับจนปัญญา แต่มโหสถก็แก้ปัญหาได้ทุกครั้ง บางครั้งยังช่วยให้บัณฑิตทั้ง 4 รอดพ้นความอับจน จนถึงขั้นได้ทูลยุยงพระเจ้าวิเทหะให้ทรงระแวงจนคิดจะฆ่ามโหสถ ทำให้มโหสถต้องหนีไปอยู่ในชนบท แต่ในที่สุดก็มีโอกาสกลับมาแก้ข้อกล่าวหาและใช้ปัญญาทำให้บัณฑิตทั้ง 4 เลิกคิดร้ายกับตนได้สำเร็จ

บำเพ็ญปัญญาบารมีอันล้ำเลิศ นำพาให้พ้นภัย

เมื่อมโหสถอายุได้ 16 ปี พระมเหสีของพระเจ้าวิเทหาราช จะจัดหาหญิงมาให้เป็นคู่ครอง แต่มโหสถขออนุญาตเลือกเอง จึงปลอมตัวเป็นช่างชุนผ้าไปยังหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ได้พบกับอมร หญิงสาวลูกเศรษฐีเก่าแก่ เมื่อมโหสถพบก็รู้ได้ว่านางอมรนั้นมากด้วยปัญญาสมบูรณ์ทุกประการ จึงทดสอบด้วยการสนทนากัน ซึ่งยิ่งแสดงให้เห็นว่านางเป็นคนมากด้วยปัญญา มโหสถจึงได้ขอนางกับบิดามารดา และพากลับเมืองมิถิลา

นอกจากนี้ มโหสถยังใช้สติปัญญาอันล้ำเลิศช่วยให้แคว้นวิเทหรัฐรอดพ้นจากการรุกรานของพระเจ้าจุลนีพรหมทัต พระราชาเมืองอุตรปัญจาล ไม่ว่าจะโจมตีด้วยวิธีใด มโหสถก็รู้ทัน สามารถตอบโต้และแก้ไขได้ทุกครั้ง พระเจ้าจุลนีเห็นว่ามโหสถนอกจากจะประกอบด้วยความสติปัญญาประเสริฐแล้ว ยังเป็นผู้ไม่มีจิตใจมุ่งร้ายพยาบาทผู้ใด พระเจ้าจุลนีจึงตรัสขอให้มโหสถไปอยู่กับพระองค์ แต่มโหสถทูลว่า ตนได้รับราชการผู้เป็นเจ้านายของตน ไม่อาจไปอยู่ที่อื่นได้ แต่หากพระเจ้าวิเทหราชสวรรคต ตนจะไปอยู่เมืองอุตรปัญจกาลรับราชการอยู่ในราชสำนักของพระเจ้าจุลนี

เมื่อพระเจ้าวิเทหราชสิ้นพระชนม์ มโหสถก็ทำตามที่เคยพูดไว้ ไปรับราชการอยู่กับพระเจ้าจุลนี มโหสถนอกจากจะมีสติปัญญา เฉลียวฉลาดแล้ว ยังประกอบด้วยคุณธรรมอันประเสริฐ มีความสุขุมรอบคอบ ไม่หลงใหลในลาภยศสรรเสริญ ดังนั้น มโหสถจึงได้รับยกย่องว่าเป็น บัณฑิตผู้มีความรู้อันลึกซึ้ง มีสติปัญญาประกอบด้วยคุณธรรมอันประเสริฐ เป็นผู้มีสติปัญญาประพฤติปฏิบัติในทางที่ถูกที่ควร

สาระสำคัญ  คติธรรม พระมโหสถชาดก

ปัญญาอันล้ำเลิศนั้นย่อมนำคุณมาให้ แม้ไม่มีปัญญาดั่งปราชญ์ แต่ถ้าเป็นผู้รู้จักคิดให้รอบคอบก่อนก็ย่อมเป็นผู้มีปัญญาและประพฤติชอบแล้ว

ทศชาติชาดก

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *