วัดสามวิหาร วัดพระนอน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

วัดสามวิหาร วัดพระนอน

วัดสามวิหาร วัดพระนอน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นวัดเก่าสมัยอยุธยาตอนต้น ประมาณรัชสมัยของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ขุนหลวงพะงั่ว ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.. 1930 และสันนิษฐานว่าสถานที่สำคัญของวัด ถูกทำลายไปเมื่อตอนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ใน พ.. 2310 เนื่องจากวัดสามวิหารเป็นวัดที่พม่าเลือกเป็นที่ตั้งฐานทัพ

ประวัติความเป็นมา วัดสามวิหาร วัดพระนอน

ตามตำนานกล่าวว่า หม่อมหลวงชีดำได้สร้างขึ้นเพื่อจะบรรจุอัฐิของมารดาและญาติๆ จึงแบ่งกันสร้างกับพี่น้อง คือ เจ้าฟ้าขาว และเจ้าฟ้าเขียว โดยหม่อมหลวงชีดำสร้างพระนอนและวิหาร เจ้าฟ้าขาวสร้างหลวงพ่อขาวและวิหาร เจ้าฟ้าเขียวสร้างพระยืนและวิหาร เดิมชื่อ วัดสามพิหาร ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น วัดสามวิหาร เนื่องจากมีวิหาร 3 หลัง คือ วิหารพระนอน วิหารพระนั่ง และวิหารพระยืน แต่ปัจจุบันเหลือเพียงวิหารพระนอนและวิหารพระนั่ง ส่วนวิหารพระยืนได้หักพังไปตามกาลเวลา และไม่ได้สร้างทดแทน

ขอพรพระพุทธไสยาสน์ พระพุทธรูปเก่าแก่ กว่า 600 ปี

พระพุทธไสยาสน์ ประดิษฐานภายในวิหารพระนอน มีความยาว 21 เมตร อายุมากกว่า 600 ปี พุทธลักษณะคล้ายศิลปะสมัยสุโขทัย ท่อนแขนเอนออกนอกตัว ไม่เหมือนพระนอนสมัยหลังที่แขนของพระพุทธรูปจะงอตรงขึ้นรับพระเศียร จึงสันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธไสยาสน์ ปางโปรดอสุริทราหู ทั้งวิหารและองค์พระนอนได้รับการปฏิสังขรณ์ใหม่ และมีการปฏิสังขรณ์สืบต่อกันมาแล้วหลายครั้งตั้งแต่สมัยอยุธยา จึงไม่เหลือร่องรอยที่พอจะทราบแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใด องค์พระนอนมีสีสวยงามและแปลกตา

สามารถขึ้นไปเดินเวียนรอบองค์พระนอนได้ ศรัทธาชาวบ้านมักไปสักการะไหว้ขอพร ทั้งโชคลาภ การงาน ขจัดอุปสรรคต่างๆ และความเมตตามหานิยม อีกทั้งยังเชื่อกันว่า หากใครที่โดนของหรือคุณไสยมนต์ดำ ให้เอาศีรษะคนนั้นไปจรดที่หัวแม่โป้งนิ้วเท้าและนิ้วชี้ขององค์พระนอนจะช่วยให้หลุดพ้นได้ (เป็นความเชื่อส่วนบุคคล โปรดใช้วิจารณญาณ)

สิ่งน่าสนใจอื่นภายในวัดสามวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

วิหารพระนั่ง ประดิษฐานพระพุทธรูป ปางมารวิชัย หรือ พระพุทธนิมิตพิชิตมาร ขนาดหน้าตักกว้าง 4.6 เมตร สันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปเก่า แต่ได้รับการปฏิสังขรณ์ใหม่ ทาด้วยสีขาว ต่อมาจึงเรียกว่า หลวงพ่อขาว  และวิหารก็น่าจะถูกดัดแปลงจากวิหารเดิม โดยรื้อผนังออกให้กลายเป็นวิหารโถง

พระอุโบสถ ปัจจุบันสร้างขึ้นใหม่ทับพื้นที่เดิม ล้อมรอบด้วยใบเสมา 17 ใบ ลักษณะของใบเสมา เชื่อกันว่า น่าจะมีอายุสมัยอยุธยาตอนต้น และมี 1 ใบที่มีร่องรอยกระสุนปืนใหญ่สมัยสงครามกรุงศรีอยุธยา ประดิษฐานพระประธาน พระพุทธสุวรรณนิมิต หรือหลวงพ่อทอง พระพุทธรูป ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 3.6 เมตร และภายในพระอุโบสถยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังบอกเล่าพุทธประวัติ และทศชาติชาดก 10 พระชาติสุดท้ายของพระพุทธเจ้า

พระเจดีย์ เป็นทรงเครื่องขนาดย่อม ฐานสูงย่อมุมไม้ยี่สิบ ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณย่อมุมไม้สิบสอง ฐานพระเจดีย์ประกอบด้วยฐานสิงห์ 3 ชั้น

พระเจดีย์ประธาน เป็นรูปทรงระฆังคว่ำขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 40 เมตร เป็นพระเจดีย์สมัยอยุธยาตอนต้นถึงตอนกลาง ศิลปะแบบสุโขทัย

ทำเนียบวัดพระนอน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *