วัดพุทไธศวรรย์ วัดพระนอน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพระอารามหลวงที่ใหญ่โตและมีชื่อเสียงวัดหนึ่ง ตามตำนานเล่าว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงสร้างขึ้นในบริเวณที่เป็นที่ประทับชั่วคราว เมื่อทรงอพยพมาตั้งอยู่ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา โปรดให้สร้างวัดนี้ขึ้นเพื่อเป็นพระราชอนุสรณ์ และสร้างถาวรวัตถุเพิ่มเติมขึ้นอีกหลายอย่าง ในปี พ.ศ. 2310 วัดพุทไธศวรรย์เป็นวัดที่รอดพ้นจากการถูกทำลายในช่วงเสียกรุงครั้งที่ 2 ไม่ได้ถูกทำลายเหมือนวัดอื่นๆ เนื่องจากอยู่นอกเมือง ทุกวันนี้จึงยังมีโบราณสถานและโบราณวัตถุหลงเหลือให้ได้ชม และมีบางส่วนปรักหักพังไปตามกาล
มีบันทึกว่าที่แห่งนี้เป็นสถานที่สำคัญในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ หรือแม้แต่เป็นสถานที่ตั้งค่าย อย่างในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ วัดพุทไธศวรรย์ได้ถูกใช้เป็นสถานที่ตั้งทัพของพม่าในคราวที่ยกทัพมาล้อมกรุง เพื่อทำการรบกับกรุงศรีอยุธยา ส่วนในสมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 ราว พ.ศ. 2243 สมเด็จกรมหลวงโยธาเทพ และสมเด็จกรมหลวงโยธาทิพ สมเด็จพระอัครมเหสีฝ่ายซ้าย และฝ่ายขวาของพระองค์ ได้ทูลลาสมเด็จพระเจ้าเสือออกจากพระราชวัง พร้อมด้วยเจ้าตรัสน้อยราชบุตร ไปตั้งนิวาสสถานอยู่ใกล้วัดพุทไธศวรรย์ และยังได้เป็นสถานที่ประกอบการเมรุสำคัญถึง 2 ครั้ง
สิ่งน่าสนใจภายใน วัดพุทไธศวรรย์ วัดพระนอน
วิหารพระพุทไธศวรรย์ ประดิษฐานองค์พระพุทธไสยาสน์ (พระนอน) ก่ออิฐถือปูน มีพุทธลักษณะพิเศษ คือ เป็นหนึ่งในพระพุทธไสยาสน์ของอยุธยาที่มีการวางพระบาทเหลื่อม ลักษณะที่คล้ายคนธรรมดา พระพาหาที่พับวางราบด้านหน้า ในลักษณะหงายพระหัตถ์เพื่อรองรับพระเศียร แตกต่างจากพระนอนศิลปะสุโขทัย วิหารตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ในเขตพุทธาวาส หลังคาได้หักพังไปหมด เหลือแต่ผนังและกรอบหน้าต่างบางส่วน โดยองค์พระพุทธไสยาสน์หันพระเศียรไปทางทิศตะวันตกตรงกับช่องประตูทางเข้าพอดี
พระมหาธาตุ (ปรางค์ประธาน) เป็นพระประธานของวัด ลักษณะรูปแบบของสถาปัตยกรรมมาจากปราสาทขอม และมีเทพผู้รักษาทิศอยู่ครบทุกด้าน ประจำอยู่ตามทิศต่างๆ โดยพระปรางค์ประธานองค์นี้จะมีห้องพระครรภธาตุ ภายในมีพระเจดีย์ทรงปราสาทยอด ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
พระระเบียง รอบองค์พระมหาธาตุมีพระระเบียงล้อมรอบผนัง มีพระพุทธรูปสีทองอร่าม ศิลปะแบบสุโขทัยประดิษฐานเรียงรอบๆ บนผนังระเบียงมีภาพกิจกรรมบนฝาผนังรูปเรือนแก้ว ลักษณะของภาพจิตกรรมเป็นศิลปะแบบรัตนโกสินทร์สมัยรัชกาลที่ 5 สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นเมื่อครั้งมีการซ่อมปฏิสังขรณ์พระปรางค์ครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2441
พระอุโบสถ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ยาว 32 เมตร กว้าง 14 เมตร ภายในมีพระพุทธรูป 3 องค์ขนาดใหญ่ ได้รับการปฏิสังขรณ์ปิดทองใหม่ สันนิษฐานว่าพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์นี้ มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 20 – 21 โดยรอบพระอุโบสถทั้ง 8 ทิศ มีใบเสมาหินชนวนขนาดใหญ่และหนาจำนวน 8 คู่ 16 ใบ และด้านในอุโบสถเป็นสถานที่ประดิษฐานของ หลวงพ่อดำ พระพุทธรูปปูนปั้นสีดำปางมารวิชัย ลักษณะศิลปะแบบอยุธยาตอนต้น
ตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทรงไทย 2 ชั้น ภายในอาคารมีภาพจิตกรรมฝาผนังโดยรอบ เป็นงานจิตรกรรมในสมัยอยุธยา เพราะเป็นการเขียนภาพที่บอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ศาสนา สังคม และวัฒนธรรม
ตำนานเหล็กไหลและสำนักดาบ วัดพุทไธศวรรย์ถูกพูดถึงในวัดที่มีพระพุทธรูปและเครื่องรางศักดิ์สิทธิ์ ว่ากันว่าอดีตวัดนี้เป็นสถานที่ฝึกอาวุธของทหารก่อนที่จะออกศึกสงคราม จึงเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะในช่วงสมัยที่พระพุทไธศวรรย์วรคุณ หรือหลวงปู่หวล ภูริภัทโท เป็นเจ้าอาวาส ก็ได้ทำพิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคลเหล็กไหล
จตุคามรามเทพ องค์พ่อจตุคามรามเทพที่ประดิษฐานอยู่ภายในวัดพุทไธศวรรย์ มีลักษณะเป็นรูปหล่อขนาดหน้าตัก 29 นิ้ว