วัดพระนอนหนองผึ้ง วัดพระนอน จังหวัดเชียงใหม่ ตำนานพระเจ้าเลียบโลก เป็นวัดโบราณเก่าแก่ที่สร้างมานานหลายร้อยปี เป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ “พระนอนหนองผึ้ง” หรือ “พระพุทธรูปป้านปิง” เป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์ ขนาดความยาว 19 เมตร เป็นพุทธศิลปแบบศิลปะล้านนายุคต้นถึงยุคกลาง
ประวัติตามตำนาน วัดพระนอนหนองผึ้ง วัดพระนอน
ประวัติวัดพระนอนหนองผึ้ง ตามตำนานกล่าวว่า ในอดีตเป็นที่อยู่อาศัยของชนเผ่าลัวะ ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 1200 พระมหาเถระเจ้า จำนวน 5 รูป ซึ่งติดตามพระนางเจ้าจามเทวี มาครองนครหริภุญชัย ตามคำเชิญของ พระสุเทวฤาษี ได้จารึกและเทศนาถึงหมู่บ้านแห่งนี้
พวกลัวะ เกิดความเลื่อมใสศรัทธาปสาทะ จึงนำเอารังผึ้งจากต้นมะขามริมสระน้ำใกล้หมู่บ้านมาถวายพร้อมสร้างพระอารามให้อยู่จำพรรษา และนำพระบรมสารีริกธาตุใส่กระบอกไม้รวก บรรจุผอบทองคำบรรจุในหลุมลึก 22 ศอก ขนานนามว่า “วัดหนองผึ้ง” วัดนี้ได้ดำรงต่อมาหลายชั่วอายุคน และได้ร้างไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง จนลุปี 1836 มีมหาเถระเจ้า พร้อมเศรษฐี และบริวารจากเมืองเชียงแสนได้บูรณะเจดีย์ขึ้นใหม่ และสร้างพระพุทธปางไสยาสน์ (พระนอน) ยาว 19 เมตร 38 ศอก แล้วสร้างพระพุทธรูปปางมารวิชัย (พระเจ้าทันใจ) 1 องค์ หน้าตักกว้าง 3 ศอก 1 คืบ
ต่อมาลุปี พ.ศ. 1838 พระเจ้าเม็งรายตีนครหริภุญชัยได้ และสร้างเมืองใหม่ทิศเหนือ นครหริภุญชัย เรียกว่า “ นครกุมกาม” ได้รวมเอาวัดนี้เป็นส่วนหนึ่งของนครกุมกามด้วย พระเจ้าเม็งรายได้ทรงอุปถัมภ์และถือเป็นวัดสำคัญในนครกุมกาม มีประเพณีนมัสการสรงน้ำปิดทองพระนอนในวันเพ็ญเดือนแปดเหนือ ทุกปีสืบตลอดมาจนทุกวันนี้
อาคารเสนาสนะสำคัญภายในวัดพระนอนหนองผึ้ง
แต่เดิมวัดพระนอนหนองผึ้ง เป็นวัดในสมัยเวียงกุมกาม–เชียงใหม่ หรือบางทีอาจจะมีสภาพเป็นวัดที่ดั้งเดิมอยู่ก่อนแล้ว ตั้งแต่สมัยหริภุญชัย และวัดได้รับการดูแลซ่อมแซมเรื่อยมา เช่น องค์พระบรมธาตุเจดีย์ และอาคารประกอบแวดล้อมอื่นๆ
พระนอนหนองผึ้ง หรือพระพุทธไสยาสน์ ถือเป็นหลักฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ของเวียงกุมกาม ที่ปรากฏหลักฐานเหลืออยู่เพียงองค์เดียว ขนาดความยาว 19 เมตร เป็นพุทธศิลปแบบศิลปะล้านนายุคต้นถึงยุคกลาง ราวพุทธศตวรรษที่ 19-20 โดยพระนอนหนองผึ้งหันพระเศียรไปทางทิศตะวันออก ซึ่งเหตุที่ได้อีกชื่อหนึ่งว่า พระนอนป้านปิง
พระบรมธาตุเจดีย์ ตั้งอยู่ระหว่างวิหารพระนอน และอุโบสถ ลักษณะเป็นเจดีย์ขนาดเล็กทรงระฆังที่ได้รับการซ่อมปฏิสังขรณ์เมื่อไม่นานมานี้ ส่วนฐานเป็นแบบเขียงตอนล่าง เหนือขึ้นมาเป็นชั้นปัทม์ย่อเก็จรองรับส่วนมาลัยเถาแบบย่อเก็จแปลง องค์ระฆังขนาดเล็กค่อนข้างใหญ่ ไม่มีส่วนบัลลังก์ ปล้องไฉนทรงกรวยคว่ำแต่ละปล้องต้องมีขนาดใหญ่ ต่อเหนือขึ้นไปด้วยชั้นบัวกลุ่มแบบพม่า และส่วนปลียอดประดับฉัตรโลหะ
พระอุโบสถ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาหน้าจั่วมีปีกนก 2 ข้างสร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ด้านหน้ามีสิงห์ปูนปั้นอยู่ 1 คู่ ส่วนซุ้มโขงประตูทางเข้าปรากฏลวดลายปูนปั้นในศิลปะพม่า ที่ได้รับการซ่อมแซมบูรณะในระยะเวลาใกล้เคียงกับสิ่งก่อสร้าง ที่มีอิทธิพลพม่าระยะรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ดังเช่นที่พบในสิ่งก่อสร้างต่างๆ ของวัดช้างค้ำ วัดเจดีย์เหลี่ยม วัดศรีบุญเรือง วัดสันป่าเลียง และวัดเสาหิน
พระวิหาร ตั้งห่างออกไปทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือ สร้างหันหน้าไปทางตะวันออก มีรูปทรงโครงสร้างอิทธิพลศิลปะจากภาคกลาง ที่มีส่วนจั่วหลังคาฐานกว้าง ทำตัวบันไดรูปมกรคายนาคปูนปั้นปิดทองและเขียนสี คล้ายกับที่พบในเขตเมืองเชียงใหม่ทั่วๆ ไป มีตัวอย่างสวยงามที่เป็นนาคบันไดของวิหารหลวง วัดเจดีย์หลวง (สร้างขึ้นใหม่ในสมัยเจ้าหลวงแก้วนวรัฐ เมื่อราว 100 กว่าปีที่ผ่านมา)
ปูชนียสถานสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ พระนอนหนองผึ้ง
วัดพระนอนหนองผึ้ง ถือเป็นปูชนียสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่กิโลเมตรที่ 6 ถนนสายเชียงใหม่–ลำพูน ท้องที่ 205 หมู่ 4 บ้านหนองผึ้ง ตำบลหนองผึ้ง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ และมีประเพณีนมัสการสรงน้ำปิดทองพระนอนในวันเพ็ญเดือนแปดเหนือของทุกปี พุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวสามารถเข้าสักการะและเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม เปิดทำการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น.